แผลเป็นที่มองไม่เห็น - ความรุนแรงทำร้ายสุขภาพจิตเด็กได้มากเพียงใด
ในทุกๆ ปีมีเด็กจำนวนมากกว่าหนึ่งพันล้านคนที่ต้องประสบกับความรุนแรง นับเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของเด็กทั่วโลก ความรุนแรงที่พวกเขาประสบนั้นมีหลากหลายรูปแบบและเกิดขึ้นในสถานที่หลากหลาย ทั้งบนโลกออนไลน์หรือออฟไลน์ ที่บ้าน โรงเรียนหรือในชุมชน เด็กอาจตกเป็นเป้าของความรุนแรง เป็นผู้พบเห็นความรุนแรง หรือพบเจอกับความรุนแรงในรูปแบบแตกต่างกันออกไป ทั้งที่เกิดขึ้นพร้อมกันหลายรูปแบบ หรือที่เริ่มต้นจากรูปแบบหนึ่ง แล้วนำไปสู่อีกรูปแบบหนึ่ง จนเกิดเป็นวงจรต่อเนื่องอันแสนสะเทือนใจ
นับเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าความรุนแรงมีผลกระทบแสนสาหัสต่อสุขภาพจิตของเด็ก บ่อยครั้งที่การพบเจอกับความรุนแรงสร้างบาดแผลทางจิตใจ ซึ่งสามารถปลุกให้เกิดการตอบสนองอันเป็นพิษภัยต่อความเครียด สร้างความเสียหายทางกายภาพและทางจิตใจ ทั้งที่ส่งผลโดยตรงทันทีและในระยะยาว ผลจากความรุนแรงนั้นรวมถึงอาการซึมเศร้า สภาวะทางจิตใจหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (Post-traumatic Stress Disorder – PTSD) ภาวะบุคลิกภาพผิดปกติชนิดก้ำกึ่ง (Borderline Personality Disorder) ความวิตกกังวล การใช้สารเสพติด พฤติกรรมการกินอาหารและการนอนที่ผิดปกติ และการฆ่าตัวตาย ผลกระทบที่สะสมเพิ่มขึ้นของความรุนแรงต่อสุขภาพจิตของเด็กนั้นก่อร่างขึ้นจากการที่เด็กต้องประสบกับความรุนแรงในช่วงปฐมวัยไปถึงวัยรุ่น ซึ่งแตกต่างหลากหลายทั้งในรูปแบบของความรุนแรงที่พวกเขาได้พบเจอและผลที่เกิดขึ้นกับสุขภาพจิตของพวกเขา ผลกระทบเหล่านี้สามารถถูกส่งต่อจากรุ่นสู่ร่น โดยเฉพาะเด็กที่สัมผัสกับความรุนแรงในช่วงวัยเยาว์จากความรุนแรงที่เกิดในคู่รัก (Intimate Partner Violence – IPV) และแม่ที่ประสบกับความรุนแรงในช่วงเวลาที่เติบโตมา ปัจจัยเสี่ยงเกิดขึ้นในระดับบุคคล ภายในความสัมพันธ์และทั่วทั้งชุมชนและสังคม ปฏิกิริยาระหว่างปัจจัยเสี่ยงที่ข้ามระดับต่างๆ นั้นมีความสำคัญเท่าเทียมกับอิทธิพลของปัจจัยเสี่ยงใดปัจจัยหนึ่งในระดับเดียว
ถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมีการเคลื่อนไหว เพื่อป้องกันและตอบสนองต่อภัยคุกคามต่อสุขภาพจิตเด็กอันเกิดจากความรุนแรง ถึงแม้ว่าจะมีการระบุโดยตัวเด็กเองว่าความกังวลหลักของพวกเขาคือเรื่องสุขภาพจิต แต่ถึงกระนั้นยังมีความขาดแคลนเป็นอย่างมากในการลงทุนและศักยภาพที่จะจัดหาการดูแลทางสุขภาพจิตที่มีคุณภาพ ตั้งอยู่บนพื้นฐานด้านสิทธิ และมีความเหมาะสมต่อสภาพวัฒนธรรมในระดับโลก นอกจากนี้เด็กยังเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพจิตในความถี่ที่น้อยกว่าบุคคลในช่วงวัยอื่นๆ อันเป็นผลจากการตีตรา ความล้มเหลวในการค้นพบความต้องการของตนเอง และการรับรู้ต่ำถึงบริการที่มีอยู่ ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เด็กที่มีปัญหาสุขภาพจิตเพียงไม่กี่หยิบมือได้รับการสนับสนุนที่ถูกต้องในเวลาอันเหมาะสม แผลเป็นที่มองไม่เห็น - ความรุนแรงทำร้ายสุขภาพจิตเด็กได้มากเพียงใด